ผู้ให้เช่าซื้อยอมผ่อนเวลาเช่าซื้อให้แก่ผู้เช่าซื้อ ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้หรือไม่

เมื่อมีกฎหมายค้ำประกันแก้ไขใหม่แล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3310/2564 หลังจากที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์

ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ มีข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระค่าเช่าซื้อใหม่ จากเดิมที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อให้แล้วเสร็จภายใน 60 เดือน นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2556 เป็นต้องชำระค่าเช่าซื้อให้แล้วเสร็จภายใน 48 เดือน นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลให้ระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แล้วเสร็จทอดยาวออกไปจากที่กำหนดไว้เดิม อันมีลักษณะของการผัดผ่อนที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้

แต่เมื่อสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์ ข้อ 3 มีข้อตกลงระหว่างกันว่า “หากธนาคารได้ผ่อนเวลาชำระหนี้ หรือผ่อนผันการชำระหนี้หรือตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อในประการใดๆก็ตาม ให้ถือว่าข้าพเจ้าให้ความยินยอมด้วยทุกครั้งแล้ว”

แสดงว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยมีข้อตกลงยกเว้นบทบัญญัติตาม ป.พ.พ.มาตรา 700 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่บัญญัติเกี่ยวกับการหลุดพ้นความรับผิดของผู้ค้ำประกันกรณีเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ในหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลาที่กำหนดแน่นอน

ดังนั้น แม้โจทก์จะผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็หาหลุดพ้นความรับผิดไม่ ส่วนความในวรรคสองของมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ซึ่งบัญญัติว่า “ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันทำไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนเวลาอันมีผลให้เป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลาข้อตกลงนั้นใช้บังคับมิได้” นั้น

เมื่อ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มาตรา 18 บัญญัติว่า “ บทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” และมาตรา 700 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นมิได้มีกรณีที่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นเพื่อให้มีผลบังคับแก่สัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย

>> การทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมิได้ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต้องผูกพันร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์

จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเช่าซื้อเป็นเวลาสามงวดติดต่อกัน โจทก์มีหนังสือบอสกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 19 มกราคม 2561 ไปยังจำเลยที่ 2 โดยชอบ

ประเด็นต่อมา บอกกล่าวจำเลยที่ 2 ชอบหรือไม่ เพียงใด

โดยจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวซึ่งล่วงพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัด >>ผลของการบอกกล่าวเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาเช่นนั้นย่อมทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพ้นอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 686 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557

อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีนี้ตามที่มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดที่ต้องร่วมร่วมผิดชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคา จำเลยที่ 2 คงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เฉพาะหนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแทนกับร่วมรับผิดในหนี้ค่าขาดประโยชน์เป็นเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดเท่านั้น

ทค. วรรณิดา