หนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ

# ฝ่ายไหนต้องรับผิดมากหรือน้อย ต้องดูพฤติการณ์แห่งการละเมิดนั้น # รถเล็กไม่ได้ถูกเสมอ # รถใหญ่ก็อาจจะไม่ต้องรับผิด #

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ป.พ.พ.

มาตรา ๒๒๓ ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร

          วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้แม้ทั้งที่ความผิดของฝ่ายผู้ที่เสียหายจะมีแต่เพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแก่การเสียหายอันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้หรือเพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย อนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๒๐ นั้นท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

          มาตรา ๔๒๕ นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

          มาตรา ๔๒๗ บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

          มาตรา ๔๔๒ ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๒๓ มาใช้บังคับ โดยอนุโลม

          มาตรา ๘๘๗ อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ

          บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้อาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย

          อนึ่งผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๗๔/๒๕๖๓       นาง ห. กับพวก  โจทก์ นาย พ. กับพวก จำเลย

          ผู้เสียหายมีส่วนผิด นายจ้างร่วมรับผิดกับลูกจ้าง ความรับผิดกรณีตัวแทนทำละเมิด ละเมิดผู้เสียหายมีส่วนผิด ประกันภัยค้ำจุน

          ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๒ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง เป็นการกำหนดความรับผิดและค่าเสียหายต่อกันโดยให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใดซึ่งต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หาได้ถือเอาความเสียหายของผู้ตายหรือของจำเลยที่ ๑ ว่ามีมากน้อยกว่ากันเพียงใดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาไม่

          เหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดจากการกระทำละเมิดอันเป็นความประมาทของผู้ตายและของจำเลยที่ ๑ ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน อันฟังได้ว่าต่างฝ่ายต่างกระทำละเมิดต่อกันและมีส่วนประมาทพอกันแล้วก็ไม่อาจเรียกค่าเสียหายต่อกันได้ กรณีจึงฟังได้ว่าผู้ตายก็มีส่วนกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ ๑ พอกัน ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายย่อมไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ ๑ ผู้ทำละเมิดรับผิดใช้ค่าเสียหายได้ เมื่อจำเลยที่ ๑ ผู้ทำละเมิดไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้างและตัวการของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ ๑ ขับย่อมไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่เช่นเดียวกัน

ทค ผ.