# อายุความใช้สิทธิเรียกร้องกู้ยืมคืน# #กู้ยืมต้องฟ้องภายในกี่ปี#

มีเงินให้เขากู้แล้วก็ต้องระวังเวลาจะทวงถามคืนด้วยนะครับ กฎหมายกำหนดอายุความเรียกร้องเงินคืนไม่เท่ากัน เช่น กู้ยืมเงินโดยทั่วไปกฎหมายไม่กำหนดไว้โดยเฉพาะ จึงให้ใช้อายุความทั่วไป  10 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  แต่กรณีกู้ยืมเงินซึ่งกำหนดให้ผ่อนชำระเงินต้นคืนเป็นงวดๆ กฎหมายกำหนดอายุความไว้ 5 ปี ส่วนดอกเบี้ยกู้ยืมที่ค้างจ่ายนั้นมีอายุความ 5 ปี  ซึ่งอายุความนั้น แม้ขาดอายุความแล้ว  เจ้าหนี้ก็ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้   แต่ลูกหนี้มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้เพื่อปฏิเสธไม่ต้องรับผิดชดใช้หนี้ที่ขาดอายุความแล้วนั้นได้เช่นกัน  หากลูกหนี้ไม่ยกอายุความขึ้นต่อสู้ในศาล  ศาลจะยกอายุความที่ขาดแล้วยกฟ้องเพื่อช่วยลูกหนี้เองไม่ได้   เพราะตามกฎหมายนั้น  อายุความทางแพ่งนี้ไม่ใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน    ดังนั้นเจ้าหนี้ควรฟ้องเรียกร้องก่อนหนี้จะขาดอายุความดังกล่าว  และลูกหนี้ต้องยกขึ้นสู้คดีเองถึงจะได้สิทธินั้นครับ ซึ่งรายละเอียดมีดังต่อไปนี้

  1. สัญญากู้ยืมหรือสัญญาสินเชื่อทั่วไปที่ไม่ได้กำหนดการผ่อนชำระทุนคืนเป็นงวดๆ  อายุความเรียกร้องภายใน 10 ปี นับแต่นับแต่วันที่เจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป หรือนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้  (ปพพ. มาตรา 193/30) 
  2. สัญญากู้ยืมหรือสัญญาสินเชื่อที่มีการกำหนดให้ผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ กล่าวคือชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ นั้น ต้นเงินกู้นั้นกฎหมายจะกำหนดอายุความเรียกร้องไว้ 5 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องเป็นต้นไป  (ปพพ.มาตรา 193/33(2) )   
  3. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมนั้น กฎหมายกำหนดอายุความเรียกร้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  (ปพพ.มาตรา 193/33 (1) )  
  4. กรณีลูกหนี้ถึงแก่ความตาย  มีอายุความเรียกร้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เจ้าหนี้ทราบว่าลูกหนี้ถึงแก่ความตาย (ปพพ.มาตรา 193/23 )

 -ปรากฏตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 649/2559 (อายุความ 10 ปี)

หนี้ที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องในคดีนี้เป็นหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท อ. ทำกับเจ้าหนี้เดิม โดยลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน สิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่บริษัท อ. ทำสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วผิดนัดชำระหนี้ถึงวันที่เจ้าหนี้เดิมได้ฟ้องบริษัท อ. ผู้ค้ำประกันรายอื่นและลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นจำเลยที่ศาลอุตรดิตถ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1123/2542 ยังไม่เกิน 10 ปี ไม่ขาดอายุความ ผลของการฟ้องคดีดังกล่าวทำให้อายุความในหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 มีต่อเจ้าหนี้เดิมในฐานะผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคสอง คดีของศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ดังกล่าวสิ้นสุดลงตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 ในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 ซึ่งมิใช่คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ที่ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง อายุความสำหรับฟ้องคดีนี้จึงต้องนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องนำหนี้ดังกล่าวมายื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องจึงไม่ขาดอายุความ

– ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5300/3563  ,  6119/2559 (อายุความ 5 ปี)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5300/2563

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรายเดือนรวม 36 งวด เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ซึ่งมีข้อตกลงชำระหนี้ผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ดังกล่าวจึงมีกำหนดอายุความห้าปีนับแต่วันผิดนัดชำระหนี้ จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ต้องถือว่าจำเลยผิดนัดชำระงวดที่เหลือทั้งหมด สิทธิเรียกร้องจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป และจะครบกำหนดห้าปีในวันที่ 16 ตุลาคม 2560 โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคารฯ เคยฟ้องจำเลยในมูลหนี้เดียวกันกับคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ภายในกำหนดอายุความห้าปี  แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้อง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องเข้ามาใหม่ภายในอายุความ และไม่มีคู่ความยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกากับฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น คือ วันที่ 31 ตุลาคม 2560 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคท้าย อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่การฎีกาคดีผู้บริโภคโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 ประกอบ มาตรา 49 วรรคสอง เมื่อคดีถึงที่สุดในวันดังกล่าวอันเป็นวันหลังจากสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 จึงเป็นการฟ้องเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีก่อนถึงที่สุด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6119/2559

สิทธิเรียกร้องในกรณีหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่ผิดนัด อายุความฟ้องเรียกเงินตามจำนวนที่ค้างจึงต้องบังคับตามมาตรา 193/33 (2) แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี หาใช่อายุความ 10 ปีไม่ เมื่อเริ่มนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2548 ถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองต่อศาลในวันที่ 27 สิงหาคม 2556 จึงเกิน 5 ปี หนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธานจึงขาดอายุความ เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความกรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 745 ที่บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสามารถที่จะบังคับเอากับตัวทรัพย์จำนองได้แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ซึ่งดอกเบี้ยที่เกินกว่าห้าปีที่ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดนั้น เป็นบทบังคับไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

– อายุความนั้น ถ้าลูกหนี้ไม่ยกขึ้นต่อสู้ในศาล  ศาลจะยกเอาอายุความขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ ตามแนวคำพิพากษาฎีกา ที่ 2687/2522 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2687/2522

สัญญากู้กล่าวถึงเรื่องดอกเบี้ยไว้สองข้อคือ ข้อ 2. ว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนนับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไป และข้อ 5. ว่าถ้าหากผิดสัญญาชำระดอกเบี้ยผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ด้วย ดังนี้ ข้อสัญญาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 เฉพาะการคิดดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญากู้ข้อ 5 เท่านั้น แต่การคิดดอกเบี้ยตามข้อ 2 ไม่เป็นโมฆะ เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

แม้มาตรา 166 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติให้เรียกดอกเบี้ยค้างส่งได้ภายในกำหนดห้าปี แต่ปรากฏว่าในคำให้การของจำเลยมิได้ยกเรื่องอายุความขึ้นสู้ไว้ ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193

– อายุความกรณีผู้กู้ถึงแก่ความตาย  มีอายุความฟ้องเรียกร้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ทราบถึงการตายของผู้กู้   ปรากฎตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2556

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2556

สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส. ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และเมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปตามที่โจทก์ฎีกาเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้น ภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์เบิกความรับว่า ส. ถึงแก่ความตายในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9  สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 193/10  สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้

มาตรา 193/30   อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา 193/33  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี
               (1) ดอกเบี้ยค้างชำระ
               (2) เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ
               (3) ค่าเช่าทรัพย์สินค้างชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 193/34 (6)
               (4) เงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดูและเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา
               (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี

มาตรา 1754  ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

               คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม

               ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก

               ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย

By. ทนายนริศ