ผู้ซื้อทรัพย์มาโดยสุจริต VS เจ้าของทรัพย์

▶️ หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


📍ปพพ.มาตรา1332 บัญญัติว่า “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์มาโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นไม่จำต้องคืนแก่เจ้าของที่แท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”


📍 ปพพ.มาตรา 1336 บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น โดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

▶️ ปัญหาที่เจอทุกวันนี้

เช่น ขายรถหรือถูกหลอกซื้อรถหรือรถถูกลักไปไป”เซ็นโอนลอย”ไปแล้วส่งมอบรถไปแล้วได้เงินไม่ครบ คนซื้อเอารถไปขายต่อแล้วพิพาทกัน ใครมีสิทธิดีกว่าใครดูฎีกาต่อไปนี้


ฎีกาที่ 493/2536

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ โจทก์รับซื้อรถยนต์พิพาทไว้จาก ส. ซึ่งนำมาขายให้แก่โจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ ไม่ได้ความว่าที่ทำการของโจทก์เป็นท้องตลาดการที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์นั้น ไม่ได้ทำให้ที่ทำการของโจทก์มีสภาพเป็นท้องตลาดสำหรับขายรถยนต์ไปด้วย โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๓๒ เมื่อจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาสืบสวนสอบสวนได้ความว่ารถยนต์พิพาทเป็นของบริษัท ค. ซึ่งถูกคนร้ายปล้นไป จำเลยทั้งหกย่อมมีอำนาจยึดรถยนต์พิพาทไว้เพื่อประกอบคดีฐานปล้นทรัพย์และคืนให้แก่เจ้าของที่แท้จริงได้


ฎีกาที่ 6500/2540

โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริตจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นพ่อค้าประกอบธุรกิจซื้อขายรถยนต์ แต่เพิ่งทราบว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีชื่อจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของในช่วงระยะเวลาหลังจากที่โจทก์ได้รับมอบรถยนต์จากจำเลยที่ ๑ และชำระราคาครบถ้วนแล้วโจทก์จึงไม่จำต้องคืนรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของ เว้นแต่จะได้รับชดใช้ราคาที่ซื้อมาตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๓๒ ส่วนจำเลยที่ ๒ จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์เพื่อติดตามและเอารถยนต์คืนจากโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่จำเลยที่ ๒ จะได้ชดใช้ราคารถยนต์แก่โจทก์ เพราะสิทธิของจำเลยที่ ๒ ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๓๖ ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๓๒


ฎีกาที่ 2491/2561

บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริต….จากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นไม่จำต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา ซึ่งคำว่า “พ่อค้า” หมายถึงผู้ที่ทำการประกอบอาชีพในทางซื้อขายเป็นปกติธุระ ดังนั้น คำว่า “พ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น” จึงต้องเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพในทางซื้อขายของชนิดหรือประเภทนั้น ๆ เป็นปกติธุระ
จำเลยที่ ๑ ประกอบกิจการรับจ้างทำความสะอาดและซ่อมแซมกระเป๋าถือสุภาพสตรีใช้ชื่อว่าร้าน บ. เปิดบริการอยู่ที่บริษัทจำเลยที่ ๒ ที่ศูนย์การค้า ฟ. แม้จะมีเครื่องประดับจำพวกเพชรและทองรูปพรรณวางแสดงอยู่ในร้าน ก็ปรากฏว่าทรัพย์นั้นเป็นของโจทก์ที่จำเลยที่ ๑ ขอยืมโจทก์มาแสดงในร้าน ทั้งก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนพาณิชย์ประกอบพาณิชยกิจ จำหน่ายเครื่องประดับจำพวกเพชร นาก เงิน และทองรูปพรรณไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานกลางทะเบียนพาณิชย์ และไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ได้รับอนุญาตให้ค้าของเก่าประเภทเพชรทองจากกรมการปกครอง นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ เป็นลูกค้าของร้านห้างทอง ต. โดยมาติดต่อขอซื้อทองรูปพรรณ บางครั้งก็นำทองเก่าที่ซื้อจากร้านมาแลกเปลี่ยนเอาชิ้นใหม่ไป บางครั้งก็นำเครื่องประดับมาให้ทางร้านซ่อม และยังเคยนำเครื่องประดับเพชร ทองมาขายหรือขายฝากกับทางร้าน ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่ามีการซื้อขายเครื่องประดับเพชรทองที่ร้าน บ. ของจำเลยที่ ๑ เลย ถือไม่ได้ว่าเป็นพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้นตามความหมายของบทกฎหมายดังกล่าว แต่เป็นเพียงลูกค้าของร้านห้างทอง ต. เหมือนลูกค้าทั่ว ๆ ไป เมื่อจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ซื้อทรัพย์ของโจทก์จากจำเลยที่ ๑ ที่มิใช่พ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จำต้องคืนทรัพย์ที่ซื้อมานั้นแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของแท้จริง

ฎีกาที่ 2681/2519

แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าร้านค้าของจำเลยอยู่ในชุมนุมการค้าก็ตามแต่การที่จำเลยซื้อรถยนต์จากนายศิริซึ่งเอามาขายให้ที่ร้านค้าของจำเลยนั้น หาใช่เป็นการที่จำเลยซื้อรถยนต์ในท้องตลาดไม่ เพราะจำเลยมิได้ซื้อจากร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งที่อยู่ในชุมชนการค้า แต่เป็นการซื้อจากบุคคลที่เอามาขายให้ที่ร้านของจำเลยนั้น หาใช่เป็นการที่จำเลยซื้อรถยนต์ในท้องตลาดไม่ จึงไม่เป็นการซื้อในท้องตลาด จำเลยจะสุจริตหรือไม่ก็ไม่เป็นเหตุให้ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๓๒ จำเลยต้องคืนรถยนต์ให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของซึ่งมีสิทธิติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ตามมาตรา ๑๓๓๖


ฎีกาที่ 2524/2523

แม้โรงสีเป็นสถานที่แหล่งรับซื้อข้าวเปลือก แต่การที่จำเลยซื้อข้าวเปลือกของโจทก์ที่ ส. ลักเอามาขายที่โรงสีของจำเลยนั้น มิใช่การซื้อจากร้านค้าใด ร้านค้าหนึ่งอยู่ในชุมนุมการค้า จึงไม่เป็นการซื้อทรัพย์ในท้องตลาดตามมาตรา ๑๓๓๒
เมื่อไม่ใช่การซื้อขายในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้น ก็ต้องกลับไปใช้หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ดังนี้ แม้ผู้ซื้อจะสุจริตก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง


ฎีกาที่ 12162/2553

การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาท มิได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ ไปจดทะเบียนโอนรถยนต์คันพิพาท จำเลยที่ ๒ รับซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลย ที่ ๑ ที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ ๒ จึงเข้าหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จำเลยที่ ๒ ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาท ทั้งการที่ บ. และจำเลยที่ ๑ นำรถยนต์คันพิพาทของโจทก์มาจัดไฟแนนซ์กับบริษัท ต. ซึ่งเป็นบริษัทของจำเลยที่ ๒ ก็ไม่ใช่การซื้อขายในท้องตลาดหรือจากพ่อค้าที่ขายของชนิดนั้นตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๓๒ ดังนั้นจำเลยที่ ๒ จะสุจริตหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้ได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมาย


ฎีกาที่ 1767/2531

โจทก์มอบสลากกินแบ่งรัฐบาลให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ช่วยตรวจรางวัลแล้วหายไป ปรากฏว่าสลากกินแบ่งดังกล่าวถูกรางวัลที่ ๓ ต่อมาจำเลยที่ ๓ นำสลากกินแบ่งนั้นไปขายให้แก่จำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่ที่สี่แยกคอกวัว อันเป็นที่ชุมนุมแห่งการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล และจำเลยที่ ๕ รับซื้อไว้โดยเปิดเผย ถือได้ว่าจำเลยที่ ๕ ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวโดยสุจริตในท้องตลาดไม่จำต้องคืนเงินรางวัลที่รับมาให้แก่โจทก์

ข้อสังเกต ที่สี่แยกคอกวัวนั้น นอกจากผู้ขายสลากกินแบ่งจะขายสลากให้แก่ผู้ซื้อแล้ว ผู้ขายสลากก็ยังรับซื้อสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลจากบุคคลที่นำมาขายด้วย ดังนั้น จึงถือได้ว่าเป็นท้องตลาดในการรับซื้อสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลได้ตามนัยที่ศาลฎีกาวินิจฉัยนี้