คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6727/2550

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6727/2550
พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดนางรอง      โจทก์
นายลำพวน ประจิตรหรือเบียดกระโทก      จำเลย

 

ป.วิ.อ. มาตรา 218, 224, 225

 

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยอาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยทราบอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบแต่ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับสรุปได้ว่า ขอให้งดโทษจำคุกและลงโทษสถานเบาโดยให้รอการลงโทษจำเลยไว้ จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย และไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด

เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาจำเลยขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้อง แม้จำเลยยื่นคำร้องมีข้อความบางส่วนเป็นทำนองว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ในคำร้องดังกล่าวก็ยอมรับว่า การกระทำของจำเลยถือเป็นความผิดต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาโดยงดโทษจำคุกและรอการลงโทษจำเลย คำร้องของจำเลยจึงเป็นเพียงคำร้องที่ยื่นประกอบคำให้การรับเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยสถานเบา และรอการลงโทษจำเลยเท่านั้น ดังนั้น ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันมาในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยในทำนองว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อดังกล่าวนั้นชอบแล้ว

 

________________________________

 

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อจัดส่งไปทำงานในต่างประเทศ ณ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายซึ่งเป็นคนหางานว่าจำเลยกับพวกสามารถจัดส่งผู้เสียหายไปทำงานรับจ้างที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีได้ โดยจะได้รับค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และค่าบริการรวมเป็นเงิน 110,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวก ซึ่งเป็นความเท็จ และโดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงยอมมอบเงินจำนวน 110,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวกรับไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 110,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาฉ้อโกง ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีในข้อหาดังกล่าวจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2550 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบซึ่งเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับสรุปได้ว่า ขอให้งดโทษจำคุก และลงโทษจำเลยสถานเบาโดยให้รอการลงโทษจำเลยไว้ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยและไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด

คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในทำนองว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้อง แม้จำเลยยื่นคำร้องมีข้อความบางส่วนเป็นทำนองว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ในคำร้องดังกล่าวต่อมาจำเลยก็ยอมรับว่า การกระทำของจำเลยถือเป็นความผิดต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาโดยงดโทษจำคุกและรอการลงโทษจำเลยไว้ คำร้องของจำเลยจึงเป็นเพียงคำร้องที่ยื่นประกอบคำให้การรับสารภาพเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยสถานเบา และรอการลงโทษให้แก่จำเลยเท่านั้น ดังนั้น ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันมาในศาลชั้นต้นการที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยมิได้เป็นการหลอกลวงผู้เสียหายเนื่องจากผู้เสียหายเห็นสามีของจำเลยไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีจึงมาติดต่อจำเลย จำเลยจึงติดต่อนายเสนาะให้ผู้เสียหาย เป็นทำนองว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น แม้ข้อความทำนองดังกล่าวจำเลยได้กล่าวไว้ในคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว ดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกาก็ตามแต่เมื่อปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ไม่เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันมาในศาลชั้นต้นดังที่วินิจฉัยไปแล้วข้างต้น อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อดังกล่าวนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

 

 

( ประเสริฐ วิริยสิทธาวัฒน์ – สิทธิชัย รุ่งตระกูล – ธนัท วิรบุตร์ )

 

 

หมายเหตุ

ที่มา ; http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp